ขั้นตอนในกระบวนการ

กว่าจะได้สิทธิการรักษามาให้ประชาชนได้ใช้ฟรีกันหนึ่งสิทธิ ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง
1

การเสนอหัวข้อ

กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดรับหัวข้อจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมว่าหัวข้อปัญหา หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพใด ควร ได้รับการบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ โดยเปิดให้เสนอเป็นรอบ ๆ

2

การจัดลำดับและคัดเลือกหัวข้อ

หัวข้อที่มีผู้เสนอจะเข้าสู่กระบวนการจัดลำดับความสำคัญ และคัดเลือกหัวข้อ โดยคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อ ในขั้นแรก คณะทำงานฯ จะพิจารณาคัดหัวข้อออกตามเกณฑ์ที่กำหนด

จากนั้นจะมีการมอบหมายนักวิชาการให้ทบทวนวรรณกรรม เกี่ยวกับหัวข้อปัญหาฯ ในด้านต่าง ๆ ตามเกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อ หากหัวข้อใดได้คะแนนสูงตามเกณฑ์ จะถือว่าเป็นหัวข้อที่มีลำดับความสำคัญสูง จากนั้น ทีมนักวิชาการจะนำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรมต่อคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อเพื่อพิจารณาเลือกหัวข้อปัญหาฯ เสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตฯ อนุมัติให้ทำการประเมินต่อไป

3

การประเมินหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้วยการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของกระบวนการนี้ เพราะเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ แน่ใจได้ว่ากระบวนการตัดสินใจเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เป็นไปโดยใช้หลักฐานเชิงวิชาการมาประกอบการพิจารณา เครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้ เรียกว่า การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (health technology assessment, HTA) เป็นการวิจัยเชิงนโยบายที่บูรณาการศาสตร์จากสหสาขาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ แพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และ จริยศาสตร์ เพื่อศึกษาผลที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ งานวิจัยด้าน HTA ที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ จะช่วยให้การใช้ทรัพยากรในระบบสุขภาพของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเพื่อเป็นข้อมูลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย

4

การตัดสินใจ

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ คณะผู้วิจัยจะนำเสนอผลการประเมินต่อคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ฯ คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการฯ เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่า เทคโนโลยีสุขภาพนั้นควรบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ เมื่อกรรมการฯ ดังกล่าวพิจารณาแล้ว จะจัดทำข้อมูลและข้อเสนอแนะ ให้คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการอื่น ๆ ภายใต้ สปสช. พิจารณา และท้ายที่สุดจะอนุมัติโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ด สปสช. ประกาศให้หัวข้อนั้นเป็น สิทธิประโยชน์

การค้นหา